วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รู้จักประกันภัยการเดินทาง


 
รู้จักประกันภัยการเดินทาง
            
  ในการเดินทางไม่ว่าจะเพื่อการท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ ศึกษาต่อ หรือไปสัมมนาก็ตาม อาจเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นได้เสมอ และนำมาซึ่งความสูญเสียหรือเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงประเมินค่ามิได้ ดังนั้น การประกันภัยการเดินทางจึงจัดทำขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระจากความสูญเสียหรือเสียหายเหล่านั้น บางท่านอาจไม่ทราบ หรือไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของการประกันภัยการเดินทาง หรือ หลายท่านอาจคุ้นเคยอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นข้อกำหนดในการขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปบางประเทศในทวีปยุโรปเช่น ฝรั่งเศส เยอรมันนี สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น ทั้งนี้ เราสามารถแบ่งการประกันภัยการเดินทางได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
การประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง (Travel Accident Insurance หรือเรียกย่อๆ ว่า TA) คือ การประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทางที่เน้นให้ความคุ้มครองระดับพื้นฐานต่อการเดินทางแต่ละครั้ง สิ่งที่คุ้มครองจึงเป็นเพียงเรื่องอุบัติเหตุทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างเดินทาง การประกันภัยเดินทางประเภทนี้จะจ่ายค่าชดเชยสำหรับการเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุแล้วแต่กรณี โดยการประกันภัยการเดินทางนี้จะพบเห็นได้มากเมื่อเดินทางไปกับบริษัททัวร์ ซึ่งเราอาจพบว่ามีทุนประกันภัยที่แตกต่างกันตั้งแต่ 100,000 บาท ไปจนถึง 2,000,000 บาท ตัวเลขนี้หมายถึงความคุ้มครองสูงสุดที่จะได้รับในกรณีเสียชีวิต และจะได้รับลดหลั่นกันลงมาในกรณีทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะต่างๆ และสำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น ถ้าซื้อความคุ้มครองไว้ก็จะได้รับชดใช้ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินคุ้มครอง โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 10% ของทุนประกันภัยการเสียชีวิต เช่น วงเงินกรณีเสียชีวิตเท่ากับ 100,000 บาท วงเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลจะเท่ากับ 10,000 บาท เป็นต้น
               การประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทางใช้ได้ทั้งกับการเดินทางในประเทศและต่างประเทศ โดยความคุ้มครองจะเริ่มตั้งแต่ผู้เอาประกันภัยเดินทางออกจากบ้านหรือที่ทำงานเพื่อเดินทางโดยตรง และจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้เอาประกันภัยเดินทางถึงจุดหมายปลายทางหรือเดินทางกลับยังบ้านหรือที่ทำงานหรือสิ้นสุดตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์แล้วแต่ว่ากรณีใดจะถึงก่อนกัน เนื่องจากประกันภัยประเภทนี้ให้ความคุ้มครองเพียงพื้นฐาน จึงอาจเหมาะสมกับการเดินทางภายในประเทศมากกว่า
              การประกันภัยเดินทางอีกแบบหนึ่ง คือ การประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ (Comprehensive Travel Accident Insurance หรือ เรียกย่อๆ ว่า CTA) ซึ่งจัดทำขึ้นมาสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น เปรียบเสมือนการยกระดับความคุ้มครองให้หลากหลายมากกว่าประกันภัยเดินทางแบบแรก เพราะในการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะอุบัติเหตุเท่านั้นที่อาจเกิดขึ้น แต่การเจ็บป่วยอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และนั่นทำให้มีความกังวลใจมากกว่า เพราะค่ารักษาพยาบาลนั้นแปรผันตามค่าครองชีพของแต่ละประเทศซึ่งสูงกว่าบ้านเราค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยหากไม่มีการทำประกันภัยไว้อาจต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในจำนวนเงินที่สูงมาก
            ขณะที่เหตุผลอีกบางประการในการเดินทางไปในประเทศที่มีสาธารณสุขไม่ดีมากนัก บางครั้งเราอาจจำเป็นที่ต้องมีการประกันภัยประเภทนี้ไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายฉุกเฉิน โดยเฉพาะในกรณีที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ๆจุดที่เราเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่สามารถช่วยรักษาได้
             นอกจากเรื่องการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายแบบข้างต้นแล้ว ในการเดินทางไปต่างประเทศยังมีเรื่องที่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับทรัพย์สินที่นำไปด้วย ซึ่งอาจสูญหาย ถูกลักทรัพย์ ฯลฯ การทำประกันภัยการเดินทางต่างประเทศจึงคุ้มค่า เนื่องจากครอบคลุมกว่ามากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายไปสำหรับค่าเบี้ยประกันภัย
ทำประกันภัยเดินทางให้อะไรแก่เรา
ประกันการเดินทางปกติ (Travel Accident Insurance: TA)

1.การชดเชยในด้านชีวิตและร่างกาย ได้แก่ เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ
2.ค่ารักษาพยาบาลกรณีเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) เช่น มีดบาดมือ ขาแพลง และผู้ป่วยใน (IPD) เช่น การบาดเจ็บสาหัส (หมายเหตุ: ผู้ป่วยนอก หมายถึงการรักษาตัวที่ไม่ต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยใน หมายถึงการรักษาตัวที่ต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล
มีบางอย่างที่ประกันภัยการเดินทาง
ไม่ให้ความคุ้มครองซึ่งเป็นข้อ ยกเว้นทั่วไป เช่น
   - โรคที่รู้ว่าเป็นมาก่อน
   - การดำน้ำ (Scuba Diving) และปีน เขาแบบที่ต้อง ใช้อุปกรณ์ปีนเขา
ประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ (Comprehensive Travel Accident Insurance: CTA) จะมีส่วนเพิ่มเติมจากข้างต้น ดังนี้
ชดเชยในด้านชีวิตและร่างกาย ได้แก่ เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ
ค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ที่เกิดจากการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) หรือผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเนื่องจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยสาหัส ค่าเดินทาง และค่าที่พักสำหรับญาติใกล้ชิดเพื่อดูแลหรือร่วมเดินทางกลับภูมิลำเนาในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการปลงศพนอกภูมิลำเนา การส่งศพหรือกระดูกกลับภูมิลำเนา
ชดเชยระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล นอกจากการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยเดินทางยังให้ความคุ้มครองเงินสดรายวันกรณีที่ต้องรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน(IPD) อีกด้วย
ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก กรมธรรม์ประกันภัยเดินทางจะชดใช้ในนามของผู้เอาประกันให้แก่บุคคลภายนอกสำหรับการบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทางในต่างประเทศจนเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงความรับผิดที่เกิดจากการใช้ยานพาหนะ
การสูญหายของกระเป๋าเดินทางและทรัพย์สินส่วนตัวที่อยู่ภายในกระเป๋าเดินทาง
 ในบางสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ระหว่างการเดินทาง เช่น การสูญหาย หรือเสียหาย ไม่ว่าในโรงแรม สนามบิน การถูกชิงทรัพย์ หากมีการแจ้งความ และนำหลักฐานมายืนยัน กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทางประเภทนี้จะชดใช้ให้ตามจริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้
การล่าช้าของกระเป๋าเดินทาง กรณีที่พบเห็นมาก คือการที่กระเป๋าเดินทางมาล่าช้ามากๆ ทั้งๆ ที่ตัวเราเดินทางมาถึงแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดของสายการบิน กรณีเช่นนี้ ทำให้ผู้เดินทางเดือดร้อนเป็นอย่างมากในการหาซื้อเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น โดยให้เก็บใบเสร็จและขอหนังสือรับรองจากสายการบินไว้ เพื่อทำการขอคืนค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปโดยกรมธรรม์ประกันภัยเดินทางจะชดใช้ให้ตามระยะเวลาที่ล่าช้าแต่ต้องไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง
การบอกเลิกการเดินทางและลดจำนวนวันเดินทาง
 เมื่อตัดสินใจที่จะเดินทางและทำประกันภัยเดินทางต่างประเทศไว้แล้ว ก็อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทำให้ต้องกลับเร็วกว่ากำหนด เช่น ข่าวด่วนการเจ็บป่วยร้ายแรงของญาติพี่น้องที่ได้รับการแจ้งมา ที่บ้านเกิดเหตุร้ายแรง หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปในจุดหมายได้อย่างกะทันหัน เช่น เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่จุดหมายปลายทางอย่าง พายุ แผ่นดินไหว การจลาจล หรือ การสไตรค์นัดหยุดงาน กรมธรรม์ประกันภัยเดินทางจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการบอกเลิกการเดินทางหรือลดจำนวนวันลง เช่น ค่าปรับ ค่ามัดจำ ฯลฯ
การล่าช้าของเที่ยวบิน ในกรณีสายการบินพาณิชย์ออกเดินทางล่าช้าหรือเลื่อนเวลาเดินทางออกไปอย่างน้อย 12 ชั่วโมงจากเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย และอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน กรมธรรม์ประกันภัยเดินทางจะจ่ายเงินชดเชยทุกๆ 12 ชั่วโมงของการล่าช้า
การจี้เครื่องบิน ในกรณีที่เครื่องบินที่ผู้เอาประกันภัยเดินทางโดยสารอยู่ถูกจี้ กรมธรรม์ประกันภัยเดินทางจะจ่ายค่าชดเชยให้ทุก 24 ชั่วโมงที่ถูกจี้
การบอกเลิกการเดินทางและลดจำนวนวันเดินทาง
 เมื่อตัดสินใจที่จะเดินทางและทำประกันภัยเดินทางต่างประเทศแล้ว ก็อาจมีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปได้หรือต้องกลับเร็วกว่ากำหนด เช่น การที่เจ็บป่วยหนักถึงขนาดที่ไม่สมควรเดินทางไม่ว่าตัวเอง หรือข่าวด่วนที่ได้รับการแจ้งมาเกี่ยวกับพ่อแม่หรือบุตรก็ตาม การที่ไม่สามารถไปได้เพราะบ้านเกิดเหตุร้ายแรงอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม และที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือการที่ภาวะโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยพิบัติของจุดหมายปลายทาง ยกตัวอย่างเช่น พายุที่เกิดขึ้นในพม่า แผ่นดินไหวที่จีน เรื่องของการจลาจลที่อาจเกิดขึ้นในธิเบต การสไตรค์นัดหยุดงานในอินเดีย ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปในจุดหมายได้ หรือแม้กระทั่งการเกิดโรคใหม่ๆอย่างไข้หวัดนกและทำให้ต้องถูกกักบริเวณจนต้องเลื่อนกำหนดกลับ ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้วฟรีๆหรือมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่จากการเลื่อนกำหนดนี้ เช่น ค่ามัดจำโรงแรม ค่าปรับจากการเลื่อนเที่ยวบินหรือการต้องซื้อตั๋วเที่ยวบินใหม่ บริษัทประกันภัยจะเข้ามาช่วยแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ โปรดอาจรายละเอียดและขั้นตอนปฏิบัติในกรมธรรม์ประกันภัยให้ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น
การล่าช้าของเที่ยวบิน หากด้านบนเป็นเรื่องของการเลื่อนเวลาการเดินทางที่เกิดจากตัวเราเอง ในส่วนนี้จะพูดถึงการเลื่อนการเดินทางที่เหตุเกิดจากทางสายการบิน โดยเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น จุดหมายปลายทางสภาพอากาศไม่อำนวย ซึ่งไม่ได้หมายถึงการดีเลย์ของเครื่องเล็กๆน้อยๆทั่วไป แต่ต้องเกิดการดีเลย์ถึงอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และบริษัทประกันภัยจะชดเชยให้ตามลำดับขั้นทุกๆ 12 ชั่วโมง
การจี้เครื่องบิน แม้จะไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ตามกำหนด
ประกันภัยเดินทางต่างประเทศเหมาะกับใคร

นักท่องเที่ยวแบบอิสระ
นักท่องเที่ยว หรือประเภทแบคแพคเกอร์ที่เที่ยวด้วยตัวเองนั้น มักจะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองเริ่มตั้งแต่วางแผนจนถึงการเดินทางด้วยตัวเองโดยที่ไม่มีบริษัททัวร์ช่วยอำนวยความสะดวกให้ การแก้ปัญหากับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้พบมาก่อนเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเจอ ซึ่งนั่นก็มีความเสี่ยงมากน้อยตามแต่ละสถานที่ โดยเฉพาะการเดินทางบนรถโดยสาร ซึ่งต้องพบปะผู้คนมากมายหลายแบบ ถึงแม้จะมีอิสระแต่ก็อาจไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน
นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการบริษัททัวร์
ปกติบริษัททัวร์จะจัดทำประกันภัยการเดินทางให้แก่ลูกค้าอยู่แล้ว แต่จากที่ได้กล่าวข้างต้นว่าการประกันภัยเดินทางมีอยู่หลายประเภทให้เลือก ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัททัวร์แต่ละบริษัทว่าจะจัดทำประกันภัยการเดินทางให้เรามากน้อยเพียงใด โดยเริ่มต้นที่ต่ำสุดที่คุ้มครองเฉพาะกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างเดียวเพียง 100,000 บาท ดังนั้น จึงควรขอตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนจากบริษัททัวร์ หากพบว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการก็สามารถที่จะซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัยได้ทันที ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบริษัทเดียวกันกับประกันภัยที่บริษัททัวร์จัดให้
ผู้ที่เดินทางไปประเทศยุโรปในกลุ่มประเทศเชงเก้น
ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย กรีซ เบลเยี่ยม โปรตุเกส สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ลักแซมเบิร์ก ไอซ์แลนด์ ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องทำประกันภัยเดินทางเนื่องจากเป็นข้อบังคับในการขอวีซ่า เพื่อแสดงความมั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุเจ็บป่วยจะมีความสามารถในการจ่ายค่ารักษาได้ เนื่องจากหากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การเลือกซื้อประกันภัยเดินทางจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูว่าบริษัทที่รับทำประกันภัยเดินทางนั้นได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสถานทูตในกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ และดูทุนประกันภัยขั้นต่ำที่กำหนดไว้คือ 30,000 ยูโร (หรือประมาณ 1,500,000 บาท) เป็นอย่างน้อย ตัวเลขนี้ต้องตรวจสอบดูว่าเป็นทุนประกันภัยในส่วนของค่ารักษาพยาบาลและอุบัติเหตุการเดินทางด้านการชดเชยในกรณีเสียชีวิต
ผู้ที่เดินทางไปทำงาน สัมมนา/ประชุมที่ต่างประเทศ
ท่านสามารถตรวจสอบกับบริษัทของท่านได้ว่าได้มีการทำประกันภัยการเดินทางต่างประเทศให้กับท่านหรือไม่ หรือตรวจสอบกับประกันภัยแบบอื่นที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบันว่ามีความซ้ำซ้อนหรือไม่ แต่โดยปกติประกันสุขภาพที่ท่านทำไว้จะมีความคุ้มครองอยู่ในอาณาเขตประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น ควรซื้อประกันภัยการเดินทางต่างประเทศไว้เพิ่มเติมเพื่อความอุ่นใจกว่า
ผู้ที่เดินทางเพื่อการศึกษาเรียนต่อ
โปรดทำการตรวจสอบกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือหอพักที่ท่านได้ทำการเลือกไว้ว่ามีกฎข้อบังคับการทำประกันภัยกับบริษัทใดหรือไม่ และตรวจเช็คช่วงเวลาที่คุ้มครอง ซึ่งอาจจะมีบางช่วงเวลาที่ไม่ครอบคลุม เช่น ช่วงเวลาเดินทางจนถึงลงทะเบียนเรียน ในบางครั้งการท่องเที่ยวก่อน หรือการเรียนภาษาในเบื้องต้น อาจเป็นเหตุให้ท่านควรเลือกซื้อประกันภัยเดินทางประเภทนี้ไว้ก่อนเช่นเดียวกัน
ข้อเสนอแนะในการซื้อเพิ่มเติม

ถ้าซื้อประกันภัยการเดินทางไปประเทศที่เกิดภัยธรรมชาติ จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์หรือไม่ อย่างไร?
ในกรณีที่ท่านซื้อประกันภัยการเดินทางต่างประเทศไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง และเมื่อเดินทางไปถึงแล้วประเทศนั้นเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ท่านสามารถอุ่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองต่างๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยค่ะ แต่ถ้าประเทศนั้นเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก่อนการเดินทาง กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่คุ้มครองความสูญเสีย หรือเสียหายใดๆที่เกิดขึ้น หรือสืบเนื่องจากภัยธรรมชาตินั้นๆ ค่ะ
บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม.
การบริการช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง พบในการประกันภัยการเดินทางต่างประเทศในบางบริษัทเท่านั้น ซึ่งเป็นบริการที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มความอุ่นใจทั้งก่อนเดินทาง และในขณะเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์เพื่อสอบถามข้อมูลการเดินทางต่างๆ เช่น การทำวีซ่า สภาพภูมิอากาศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือประสานงานเพื่อสอบถามข้อควรปฏิบัติเมื่อกระเป๋าเดินทาง หรือหนังสือเดินทางสูญหาย คำแนะนำทางการแพทย์ ข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาล รวมถึงการบริการจัดการสถานพยาบาลที่ใกล้และเหมาะสมเพื่อมั่นใจว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลในทันทีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน

การเดินทางไม่ว่าเพื่อการท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมอื่นๆ นั้น ย่อมได้รับประสบการณ์มากมาย แต่การเดินทางอาจพบกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ เนื่องจากเป็นสถานที่และสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน การเรียนรู้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ดังนั้น การที่ซื้อประกันภัยการเดินทางไว้นั้นจะทำให้ท่านได้รับความอุ่นใจและสามารถที่จะเดินทางได้อย่างไร้กังวล

* ข้อมูลนี้อ้างอิงจากกรมธรรม์ประกันเดินทางของกรุงเทพประกันภัยเท่านั้น โปรดตรวจสอบรายละเอียดแพคเกจของแต่ละบริษัท เนื่องจากประกันภัยการเดินทางต่างประเทศมิได้เป็นมาตรฐานเหมือนกันในทุกบริษัท และข้อมูลเหล่านี้ เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองจะเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น